งานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ “เส้นทางการผลิตข้าวเปลือกอินทรีย์ สู่สินค้าข้าวคุณภาพ” ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
เมื่อวันที่ 13-14 สิงหาคม 2563 กรมการข้าว ลงพื้นที่สุรินทร์ถิ่นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ตรวจสอบเส้นทางการผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพครบวงจร ตอกย้ำความเชื่อมั่นข้าวไทยต่อผู้บริโภคทั้งใน
และต่างประเทศ
นายทรรศนะ ลาภรวย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและรายได้ของชาวนา โดยจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เพื่อบริหารจัดการข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน กรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านข้าวและพี่น้องชาวนา ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ซึ่งโครงการสำคัญเหล่านี้มีการเชื่อมโยงบูรณาการกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักและเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ทำรายได้ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยแต่ละปีทำรายได้ให้กับประเทศปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันการส่งออกข้าว มีการแข่งขันสูงทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียมีศักยภาพในการผลิตข้าวสูงขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาการจำหน่ายข้าวไปยังต่างประเทศของไทยที่มีราคาแพงกว่าประเทศอื่นๆ ในระดับคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในด้านการพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตข้าวและเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นในการผลิตข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงเป็นโอกาสดีที่จะใช้มาตรฐานดังกล่าวมาพัฒนาและยกระดับการผลิตข้าวคุณภาพดีของชาวนาไทยให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งกรมการข้าว โดยกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Certification Authorize : CA) และกองตรวจสอบ รับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ ในฐานะหน่วยรับรอง (Certification Body : CB) ที่ได้รับการรับรอง จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตามระบบ ISO/IEC 17065 ได้ขับเคลื่อนงานด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวคุณภาพครบวงจร ตั้งแต่การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวและข้าวหอมมะลิ หรือข้าว GAP ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ Organic Thailand การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว และการผลิตข้าวสาร Q (Q Product) ทำให้เกิดระบบตามสอบ (Traceability) ของข้าวคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้านนายประสงค์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ ได้พัฒนาระบบการตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐานข้าวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Rice Certification System : Rice Cert) มีกระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่กระบวนการรับรอง ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ขอบข่ายแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ไปจนถึงกระบวนการแปรรูปและคัดบรรจุข้าวอินทรีย์ จนได้เป็นสินค้าข้าวคุณภาพ (Q Product) ผ่านการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้บนบรรจุภัณฑ์สินค้าข้าวคุณภาพ (Q Product) ซึ่งกระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวอย่างครบวงจร จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของภาคการผลิตข้าวทั้งระบบของประเทศ สร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นทั้งต่อตัวผู้ผลิตและผู้บริโภค
นายณราวุฒิ ปิยโชติสกุลชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ว่า ขณะนี้มีการทำ MOU ระหว่างผู้ประกอบการกับกลุ่มเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 536 กลุ่ม เกษตรกร 13,168 ราย มีการซื้อขายข้าวรวม 5,975.71 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 88.802 ล้านบาท สำหรับพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เป็น 1 ในแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ มีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ จำนวน 510 กลุ่ม เกษตรกร 9,460 ราย พื้นที่รวม 96,391.75 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ 10.59% ของประเทศและมีการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ในโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ทำ MOU กับกลุ่มเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ จำนวนทั้งสิ้น 9 บริษัท ได้แก่ บริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด บริษัท เจ พี ไรซ์ อินเตอร์เนชันแนล (1998) จำกัด บริษัท ไชยศิริ ไรซ์ อินเตอร์เทรด หจก.สุรินทร์ไชยศิริ สหกรณ์อินทรีย์ทัพไทย โรงสีข้าววิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ตำบลบุฤาษี สหกรณ์การเกษตรปราสาท จำกัด บริษัท พูนผล เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด โดยข้อมูลการรับซื้อข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ ปีการผลิต 2562/63 พบว่ามีกลุ่มเกษตรกรที่นำข้าวมาขายจำนวน 95 กลุ่ม ปริมาณการซื้อขายข้าวอยู่ที่ 819.03 ตัน ราคารับซื้อเฉลี่ย 17.45 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่ารับซื้อทั้งสิ้น 13.650 ล้านบาท